นโยบายของนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโพน แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลบ้านโพน
1 ด้านการบริหารและการจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารและการจัดการ ประกอบด้วย
1.1 หลักนิติธรรม คือ การยึดถือกฎหมาย และความยุติธรรมเป็นหลัก
1.2 หลักคุณธรรม คือ การยึดถือความดีงาม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความซื่อสัตย์สุจริต และความมีระเบียบวินัย
1.3 หลักแห่งความโปร่งใส คือ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันละกัน การทำงานสามารถให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้
1.4 หลักแห่งการมีส่วนร่วม คือ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด วางแผน เพื่อแก้ปัญหาและตัดสินใจร่วมกัน
1.5 หลักแห่งความรับผิดชอบ คือ การตัดสินใจโดยใช้หลักแห่งผลประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ยอมรับผลดีและผลกระทบที่จะเกิดจากการตัดสินใจนั้น
1.6 หลักแห่งความคุ้มค่า คือ การบริหารงบประมาณจะคำนึงถึงภารกิจและหน้าที่ของเทศบาลตำบลบ้านโพน และปัญหาของประชาชนเป็นสำคัญก่อนการตัดสินใจจะต้องวิเคราะห์ถึงผลกระทบอันจะเกิดตามมา เพื่อประโยชน์อย่างคุ้มค่าของงบประมาณต่อส่วนรวม
2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
2.1 ด้านการคมนาคม ขนส่ง จะดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงถนนหลักภายในหมู่บ้าน ซอย / ทางเท้า ให้เป็นคอนกรีต สร้างท่อระบายน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วม ปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านเพื่อให้การคมนาคม ขนส่ง ของตำบลบ้านโพนเป็นไปตามความสะดวก
2.2 ด้านสาธารณูปโภค สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้และจัดให้มีไฟส่องสว่างถนน / ซอย ภายในหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขยายเขตประปาหมู่บ้านให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ดำเนินการจัดหาภาชนะสำหรับกักเก็บน้ำสะอาดไว้ดื่มให้เพียงพอตลอดปีแก่ประชาชนทุกครัวเรือน
3. ด้านเศรษฐกิจ
3.1 การส่งเสริมอาชีพราษฎร
3.1.1 ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพ กลุ่มเกษตรกร จัดให้มีการอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ การบริหารจัดการแบบครบวงจรโดยเน้นการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ใช้หลักเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ
3.1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อการออมทรัพย์ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน ทั้งในระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน จัดหาและปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
3.2 ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้ได้คุณภาพระดับมาตรฐาน ส่งเสริมและจัดหาตลาด เพื่อให้ราษฎรที่ผลิตสินค้าสามารถจำหน่ายผลผลิตอย่างสะดวกและได้ราคา
4. ด้านสังคม
4.1 จัดให้มีรถกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลโดยด่วนลดการสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
4.2 สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
4.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ประชาคม ตลอดจนการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ
5. ด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี บำรุงศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ส่งเสริมภูมิปัญญาของท้องถิ่นโดยการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และหวงแหน การปฏิบัติเพื่อสืบทอดศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
6. ด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
6.1 ด้านการสาธารณสุข สนับสนุนและส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน มุ่งเน้นการป้องกัน โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรคติดต่อ มีสุขอนามัยในการดำรงชีวิต เช่น การกำจัดขยะลดมลพิษต่าง ๆ
6.2 ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างมีระบบ โดยเน้นการจัดการตามความต้องการของชุมชนมีส่วนรวมเป็นหลัก
7. ด้านการศึกษาและด้านการกีฬา
7.1 ด้านการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน พัฒนาการศึกษาทั้งด้านความรู้ คุณธรรม จริยธรรม สนับสนุนการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ส่งเสริมการสร้างสื่อและนวัตกรรมทางการศึกษา โดยการจัดงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ
7.2 ด้านการกีฬา ส่งเสริมและสนับสนุนการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การกีฬา การแข่งขันกีฬา โดยเน้นเพื่อการออกกำลังกาย และสร้างนิสัยให้รักการกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป้าหมายหลักเพื่อสร้างสุขภาพให้แข็งแรง โดยไม่เน้นผล แพ้ – ชนะ
8. ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน
8.1 ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพ
8.2 สนับสนุนให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพ
8.3 ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความชำนาญ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
9. ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด รณรงค์และให้การสนับสนุนร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการป้องกันและปราบปราม การให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด